Monday, June 11, 2012

แนวทางการการสอบเป็นทหารพลร่มหญิง

ทหารพลร่มหญิง หากเอ่ยถึงคำนี้ หลายคนอาจจะจินตนาการหรือนึกภาพไม่ออก ว่าความเป็นมาและการฝึกศึกษาของพลร่มหญิงเขามีที่มาอย่างไร และมีแนวทางการรับสมัครกันอย่างไรบ้างสำหรับหญิงไทย ที่สนใจต้องการสมัครเป็นทหารพลร่มหญิงของกองทัพบก
ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง พลร่มหญิง น่าจะกำเนิดเกิดมาจาก พนักงานพับร่มหญิงของ ริกเกอร์ (Rigger)กองพลาธิการส่งกำลังทางอากาศ
เขาเปิดรับสมัครพนักงานพับร่มเป็นผู้หญิง เพราะความเชือที่ว่า ผู้หญิงจะมีความปราณีต ละเอียด อดทน รอบคอบในการพับร่ม มากกว่าผู้ชาย แน่นอนว่าก่อนจะพับร่มให้คนอื่นเขาโดด คนพับก็จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจหลักการทำงานของร่ม และส่วนประกอบของร่ม อย่างถ่องแท้ รวมทั้งจะต้องสามารถกระโดดร่ม ได้ด้วย แบบนักโดดร่มทั่วไป เพื่อให้เข้าใจอย่างแท้จริงนั้นเอง ซึ่งต่อมาพนักงานพับร่มเหล่านี้ บางคนก็ผ่านการทดสอบและการเรียนกระโดดร่มในขั้นสูง คือการกระโดดร่มแบบกระตุกเอง (Free Fall) และได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันระดับชาติและนานาชาติต่อไป สำหรับ การเป็นทหารพลร่ม จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็มี แบบว่าไม่มีสูตรสำเร็จหรือ กฏตายตัวหรอกครับ แต่มีปัจจัยและองค์ประกอบที่สำคัญหลายข้อด้วยกัน ขอยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น
1 ความรู้ความสามารถ และคุณสมบัติ
2 ความพร้อมด้านร่างกาย ไม่ป่วยเจ็บ มีรูปร่าง น้ำหนัก ส่วนสูง ตามเกณฑ์ที่กำหนด
3 โอกาส /ช่องทาง (เราต้องแสวงหา )
4 ผู้สนับสนุน ญาติ พ่อแม่ พี่น้อง เป็นทหาร เป็นต้น
5 ความมุ่งมั่น ความตั้งใจของเราที่จะเป็นทหาร
และ อาจจะมีอีกหลายปัจจัย อื่นๆ ฯลฯ
ทหารพลร่ม กระโดดร่มเชิงกีฬา ชนิดต่อร่ม ณ สนามกระโดดร่ม อ.เมือง จ.ลพบุรี

การเป็นทหารพลร่มหญิงในหน่วยรบพิเศษ ลพบุรี โดยปกติแล้ว จะมีแนวทาง 4 แนวทาง ดังนี้
1 พนักงานพับร่ม(Rigger) สังกัด หน่วยพับร่ม ของรบพิเศษ มีที่ตั้งอยู่ที่ ค่ายเอราวัณ ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี บริเวณใกล้เคียงกับ โรงเรียนพลร่ม หรือ โรงเรียนสงครามพิเศษ www.sws.in.th
โดยปกติ การเปิดรับสมัคร ก็จะเป็นวงในซะมาก ไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์เท่าไหร่ จะเรียกว่ารู้กันเป็นการเฉพาะ กำลังพลของหน่วย หรือคนรู้จักกันเท่านั้นนะครับ จึงเรียกว่ายากมากสำหรับคนภายนอกทั่วไป คุณสมบัติของผู้สมัคร เป็นผู้หญิง จบการศึกษามัธยมปลาย อายุ 18 + โสด สูง 160 + การสอบมีภาควิชาการ การสัมภาษณ์ การทดสอบร่างกาย วิ่ง ดันพื้น ลุกนั่ง ว่ายน้ำ ตรวจร่ายกาย ผ่านหมดแล้ว จะรับประมาณ 5-8 คน ต่อครั้ง ห้วงการรับไม่แน่นอน อาจจะทุกปี หรือ 2-3 ปีครั้ง ก็เป็นได้
การทำงานก็จะเป็นลักษณะการพับร่ม การซ่อมร่ม และงานทางธุรการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบ
สำหรับเงินเดือน และค่าปีก พี่ไม่แน่ใจ รู้แต่ว่า เป็นพนักงานพับร่ม หรืิอ พลร่มหญิง ทุกคนจะต้อง จบหลักสูตรส่งทางอากาศ กระโดดร่ม ด้วย เป็นหลักสูตรบังคับ และถือว่าเป็นแรงจูงใจ ท้าทาย สำหรับผู้หญิง ตัวเล็ก ๆ ที่ต้องการจะเป็นทหารพลร่มครับ
โอกาสและความก้าวหน้า ยากมากๆ มี จำนวนน้อยคน ที่สามารถผลักดันตัวเองไปถึง ระดับ นายสิบ และนายทหารสัญญาบัตรได้ โดยการคัดเลือก เป็นตัวแทนพลร่มหญิงไทย ในการกระโดดร่มแบบกระตุกเอง ชนิดกีฬา เป็นตัวแทนหน่วย แข่งขันในระดับประเทศ และระดับชาติ ก็จะได้รับการพิจารณาให้เลื่อนยศเป็น นายสิบ นายทหารต่อไป ตัวอย่างที่เห็นมาด้วยตัวเอง ก็กรณีของพี่ พันโทหญิง อรทัย นันทารมณ์ ที่พี่เขามาจากพลร่มหญิง และเป็นตัวแทนไปกระโดดร่ม ชนะเลิศระดับโลก กลับมาก็ได้พิจารณาความชอบเลื่อนยศ เป็นร้อยตรี และรับราชการมาจนเป็นพันโทแล้วในปัจจุบัน 2555 ครับ สังกัดน่าจะเป็นศูนย์สงครามพิเศษ
ตัวแทนทหารพลร่มหญิง มอบช่อดอกไม้ที่นำลงมาด้วยระหว่างการกระโดดร่ม ให้กับแขกต่างประเทศที่มาเยี่ยมชมหน่วยรบพิเศษพลร่มของไทย ณ สนามกระโดดร่ม จ.ลพบุรี 

2 การบรรจุพิเศษ จะทำหน้าที่เป็น เจ้าหน้าที่เอกสาร ธุรการ ล่าม การเงิน ของหน่วย ซึ่งมีบ้างแต่ก็ไม่มาก เท่าที่เห็น ก็จะมีบ้าง แบบนี้จะไม่เปิดรับสมัครครับ แต่จะเปิดรับเป็นการภายในเฉพาะเท่านั้น เช่น ทดแทนทายาท ยกตัวอย่าง สังคมทหารก็จะมีการดูแล ครอบครัว กำลังพลที่สูญเสียชีวิต จากการรบ หรือปฏิบัติหน้าที่ในสนาม ก็จะมีการดูแล โดยบรรจุลูกชาย หรือ ลูกสาว เป็นข้าราชการ นายทหาร นายสิบ ตามตำแหน่งที่หน่วยต้องการพิเศษ เพื่อช่วยเหลือ เท่าที่เห็นและยกตัวอย่างให้ได้ก็กรณีกำลังพลของหน่วยรบพิเศษ โดนลอบวางระเบิดและยิงซ้ำใน 3 จชต. เสียชีวิต 7 นาย พร้อมกัน ก็มีการช่วยเหลือและดูแลกันโดยบรรจุทดแทนครับ ปัจจุบัน น้องๆ ที่บรรจุก็ทำงานด้วยกัน โดยการฝึกหัด ระเบียบทหาร และเรียนร่ม เพื่อได้สิทธิการเป็นทหารพลร่ม เช่นเดียวกันกับผู้ชายครับ ก็มีทั้งนายทหารและนายสิบครับ ข้อดีของสังคมทหารก็คือข้อนี้แหละครับ คือการไม่ทอดทิ้งกัน ในยามที่สูญเสีย ในยามที่ลำบาก ถือเป็นจุดเด่นของสังคมทหารครับ (สังคมไทยอื่นๆ ก็คงคล้ายๆ กัน เช่น ตำรวจ แพทย์ ครู เป็นต้น )

3 จบมาจาก วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก มีทั้ง นายทหาร และนายสิบ บรรจุในหน่วยแพทย์ของรบพิเศษ แบบนี้ จะต้องจบ ม.6 และสอบเข้าแบบมหาลัย และเขาเปิดรับตรงทุกปีครับ ต้องเรียนจบมัธยมปลายสายวิทย์ คณิต ที่เก่งมากๆ ยกตัวอย่างลูกของกำลังพลรบพิเศษท่านหนึ่งที่พี่รู้จัก เรียนดีมาตลอด และเข้ากรุงเทพฯ ติวหนังสือตลอด จบ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ลพบุรี คะแนนเฉลี่ย 4.0 จากนั้นทราบข่าวว่า ติดแพทย์จุฬา และวิทยาลัยพลาบาลกองทัพบก และทราบว่าน้องเขาเลือก วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก เพราะได้ยศ ร้อยตรีหญิงด้วย สำหรับหน่วยแพทย์ของรบพิเศษ ก็สามารถมาลงบรรจุได้หลังจบแล้ว แต่ก็ไม่มากครับ ประมาณ 3-5 อัตราเท่านั้น เรียกว่า 2-3 ปี ก็จะเปิดรับแทนคนเดิมที่ย้ายออก หรือครบวาระการทำงาน ประมาณนั้นครับ

4 อีกช่องทางหนึ่ง เอาแบบที่ว่าเปิดรับสมัคร และประชาสัมพันธ์ครับ สามารถติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์ของ กรมยุทธศึกษาทหารบก www.atc-rta.mi.th
แบบนี้ Open ครับ คือ การสมัครสอบนายทหารสัญญาบัตร คุณวุฒิปริญญาตรี โท จากบุคคลทั่วไป ตำแหน่งที่รับ สอบทุกปี ประมาณ70 อัตรา ทุกปีครับ ทั้ง ชายและหญิง บางอัตราก็จำกัดสาขาที่จบมา เช่น ล่าม ภาษาอังกฤษ กฏหมาย สัตวแพทย์ เป็นต้น สนใจต้องลองเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ การสอบนายทหารสัญญาบัตรคุณวุฒิปริญญาบุคคลพลเรือน
NOTE : แนวทางนี้การแข่งขันสูงมาก แต่ก็เป็นโอกาสและช่องทางของคนที่จบ ป.ตรี หรือ ป.โท ที่ต้องการเป็นทหารนะครับ สำหรับแนวทางนี้ เมื่อสามารถสอบบรรจุและเข้าทำงานแล้ว ก็ค่อยหาทางมาเรียนร่ม และขอปรับย้ายมาหน่วยทหารพลร่มภายหลังครับ

บทสรุป
จากช่องทางและแนวทางของ คนที่สนใจและต้องการจะสมัครเข้ามาเป็นทหารพลร่มหญิง และทำงานในหน่วยรบพิเศษ ของกองทัพบกไทย ก็เป็นไปตามเนื้อหาด้านบนครับ คือมี 4 แนวทางด้วยกัน ซึ่งขอสรุปย่อๆ อีกครั้งดังนี้
1 พนักงานพับร่ม หรือพลร่มหญิง กองพลาธิการส่งกำลังทางอากาศ
2 เปิดบรรจุภายในสำหรับกำลังพลของหน่วยรบพิเศษเท่านั้น
3 จบการศึกษาจากโรงเรียนวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก ผู้ช่วยพยาบาล
4 สอบมาจากพลเรือนของ กรมยุทธศึกษาทหารบก
สรุปว่า ไม่มีอะไรได้มาโดยง่ายนะครับ และพี่ก็อยากจะบอกทุกคนว่า ไม่ได้เป็นทหารหญิง หรือพลร่มหญิง ก็ไม่ได้เป็นวันสุดท้ายของโลกหรอกนะครับ It's not the end of the day/earth ,so keep going and be optimized มองโลกในด้านอื่นๆ บ้าง อาชีพ ครู อาชีีพ งานวิสาหกิจ หรืออาชีพ ส่วนตัวอื่นๆ ที่สุจริต ก็ถือเป็นการทำงาน เพื่อชาติ บ้านเมือง ให้ก้าวไปข้างหน้า เช่นกัน เผลอๆ อาจจะรวยกว่า ดีกว่า และประสพความสำเร็จ มีชื่อเสียง เงินทอง มากกว่า ก็เป็นได้
แต่ถ้าใครที่ถึงพร้อมด้วย เงินทองและชื่อเสียงและบารมี แต่ต้องการเกียรติและศักศรีของการเป็นทหารหญิง/ทหารพลร่มหญิง สักครั้งในชีวิตนี้ให้ได้ น้องๆ ก็ลองดูละกันครับว่าแนวทางใดที่น้องจะสามารถสอดแทรกตัวเองเข้ามาเป็น 1 ในสมาชิกของหน่วยรบพิเศษ ทหารพลร่มหญิง แห่งนี้ได้ครับ ขอให้โชคดี แนะนำติชม แลกเปลี่ยน สามารถ Post ข้อความคอมเม้นต์ด้านล่างได้เลยครับ
ขอบคุณที่อ่าน และ สวัสดีมีชัยทุกท่าน ทุกคนครับ

5 comments:

  1. ข้อมูลดีมากครับ ผมขอนำไปเผยแพร่ต่อนะครับพี่ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

    ReplyDelete
  2. ยินดีครับ ขอบคุณอีกครั้งที่สนใจและนำไปบอกต่อครับ

    ReplyDelete
  3. จะ28ปีหน้าแล้วอ่ะค่ะ อยากเป็นทหารรับใช้ชาติสักครั้งในชีวิต ( เพราะชีวิตนู๋ มันไม่มีอะไรจะเสียแล้ว )

    ReplyDelete
  4. สมัครได้ทางไหนค่ะ

    ReplyDelete
  5. ชอบทัศนคติพี่มาก ข้อมูลนี้ทำให้มีเเรงบันดาลใจสอบหลายๆรอบเผื่อติด

    ReplyDelete