Saturday, October 10, 2009

คุณธรรมสำหรับผู้ครองเรือน

คุณธรรมสำหรับผู้ครองเรือน

ฆราวาสธรรม เป็นหลักธรรมที่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปจำเป็นจะต้องมีไว้เพื่อเป็นหลักยึดในการดำเนินชีวิต เหมือนเป็นอาภรณ์ประดับกายที่มีค่า ทำให้เป็นคนที่มีลักษณะน่าเชื่อถือ น่าเคารพ น่าศรัทธา น่าไว้วางใจ เป็นหลักธรรมที่เสริม และไปด้วยกันดีกับอิทธิบาท 4 ทำให้เพิ่มพลังในการทำงานยิ่งกว่ารถยนต์ที่เติมน้ำมันเบนซินซูเปอร์เสียอีก ดังนั้น เราซึ่งควรมาศึกษารายละเอียดของฆราวาสธรรมว่ามีประการใดบ้างจึงขอยกคำสอนของหลวงพ่อทัตฺตชีโว วัดธรรมกาย ที่ได้เทศน์อบรมพุทธศาสนิกชน เกี่ยวกับฆราวาสธรรม ดังนี้
๑. สัจจะ คิดทำอะไรให้จริงจังและจริงใจ ทุ่มหมดตัว ไม่ยั้ง ไม่เหยาะแหยะ ได้แก่
๑.๑ จริงต่อหน้าที่ บุคคลไม่ว่าสถานะใดต้องมีหน้าที่ทุกคน เมื่อรู้จักบทบาท
หน้าที่ของตนแล้ว ก็รับผิดชอบและทำหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง
๑.๒ จริงต่องาน เมื่อบุคคลมีหน้าที่ก็ต้องมีงานตามมาคนที่จริงต่อการงานไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่อะไรก็ทุ่มทำงานในหน้าที่นั้นให้หมดตัว ไม่ต้องขยักไว้ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ชาติไทยเรื่องการกู้เอกราชของพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงคราวที่พระองค์จะตีเมืองจันทบุรี พระองค์ก็ทรงทุ่มเทหมดตัวเหมือนกัน เย็นวันนั้นพอพวกทหารกินข้าวกินปลาอิ่มกันดีแล้ว ก็ทรงสั่งให้เผาอาหารที่เหลือทิ้งให้หมด หม้อข้าวหมอแกงสั่งให้ทุบทิ้งไม่ให้มีเหลือ แล้วทรงรับสั่งอย่างเฉียบขาดว่า “คืนนี้ต้องตีเมืองจันท์ให้ได้แล้วเข้าไปกินข้าวในเมือง แต่ถ้าตีไม่ได้ก็ตายกันอยู่หน้าประตูเมืองจันทบุรี อดตายกันอยู่นี่นั่นแหละ”
จากวิธีการทำงานของท่าน ก็คงจะเห็นได้ว่า ท่านทุ่มเทหมดตัว งานซึ่งสำเร็จดังใจหวัง ถ้าเราทำงานแล้วทุ่มหมดตัว งานก็ต้องสำเร็จเช่นกัน ทำงานแต่ละชิ้นต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งหมายความว่าที่ดีสุดเท่าที่เวลาอำนวย ดีที่สุดสำหรับอุปกรณ์ที่หามาได้ในตอนนั้น ดีที่สุดเท่าที่งบประมาณกำหนดมาให้ เมื่อคิดว่าดีที่สุดแล้วก็ทุ่มทำเต็มที่ ฝึกให้เคยต่อไปก็จะเกิดความคล่องขึ้นเอง
๑.๓ จริงใจต่อเวลา รู้จักใช้เวลาให้คุ้มค่า เรื่องไม่เป็นเรื่องไม่ควรทำเสียเวลาเปล่า เวลาที่ผ่านไปมันไม่ได้ผ่านไปเปล่า ๆ มันเอาอายุ เอาชีวิตของเราไปด้วย
๑.๔ จริงต่อบุคคล นั่นคือคบกับใคร ก็คบกันจริง ๆ ไม่ใช่คบกันเพียงแต่มารยาท หรือต่อหน้าสรรเสริญ ลับหลังนินทา
๑.๕ ตรงต่อความดี คือ จริงใจต่อคุณธรรมความดี จะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเพื่อน หรือทำตามหน้าที่ ต้องมีคุณธรรมกำกับด้วย อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน
แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันที่ตรัสรู้นั้นเมื่อท่านนั่งสมาธิบัลลังก์แล้ว ท่านก็ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานทุ่มชีวิตเลยว่า “แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะแห้งเหือดหายไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเราจะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด”
๒. ทมะ คือ การข่มใจ เป็นการรู้จักบังคับใจต่อตัวเอง หรือฝึกปรับปรุงตัวเอง
เรื่อยไป เราในฐานะชาวพุทธ เราควรจะบังคับตัวเองหรือฝึกตนเองในการแก้นิสัย นิสัยใดที่รู้ว่าไม่ดีก็ต้องรีบแก้ เช่น นิสัยของความเกียจคร้าน ต้องฝืนใจให้ได้ ฝึกฝนอยู่บ่อย ๆ ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ช้าก็จะคุ้นจนไม่รู้สึกว่าฝืนใจทำงาน นิสัยเสียอื่น ๆ ก็เช่นกัน เมื่อได้ข่มใจฝึกปรับปรุงตัวเองเรื่อย ๆ ไป ก็ย่อมจะเป็นที่รักแก่คนทั่วไป ไม่มีพิษมีภัยกับใคร
๓. ขันติ คือความอดทนเป็นลักษณะบ่งถึงความเข้มแข็งทางใจ ขันติมี ๔ ลักษณะ
๓.๑ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ได้แก่ อดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ฝน
จะตก แดดจะร้อน อากาศจะหนาว หรือภูมิประเทศจะแห้งแล้งอย่างไรก็ทนได้ทั้งสิ้น
๓.๒ อดทนต่อความทุกขเวทนา คือ ทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย
๓.๓ อดทนต่อความเจ็บใจ คือ ทนต่อการดูถูกว่ากล่าวกระทบกระเทียบ
เปรียบเปรย การกระทำให้เจ็บอกเจ็บใจ
๓.๔ อดทนต่ออำนาจกิเลส หมายถึง การไม่เอาแต่ใจตัว อดทนต่อสิ่งยั่วยวน
หรือความฟุ้งเฟ้อต่าง ๆ
๒.๔ จาคะ แปลว่า เสียสละ หมายถึง ตัดใจหรือตัดกรรมสิทธิ์ของตน ตัดความยึดถือ ความเสียสละมี 2 นัย
๔.๑ เสียสละวัตถุ หมายถึง การแบ่งปันกันกิน แบ่งปันกันใช้ รวมทั้งการทำบุญให้ทานด้วย
๔.๒ สละอารมณ์ หมายถึง ไม่ผูกโกรธใคร ใครจะทำให้โกรธ เราก็อาจจะดุด่าว่ากล่าวกันไป แต่ไม่ผูกใจโกรธไม่คิดจะตามจองล้างจองผลาญ
คุณธรรมของผู้ครองเรือนทั้ง 4 ข้อจะทำให้ผู้ครองเรือนสามารถอยู่และครองเรือนได้อย่างปกติสุข ครอบครัวรักใคร่มีเยื่อใยต่อกัน ปัญหาครอบครัวไม่มี



ที่มา http://socialscience.igetweb.com/index.php?mo=3&art=25777

No comments:

Post a Comment