Saturday, October 10, 2009

อย่าท้อ

อย่าท้อ
เขียนโดย ผศ.สุภวรรณ พันธุ์จันทร์
บทความเวบไซต์วันนี้เริ่มต้นด้วยประโยคสั้นๆ ว่าอย่าท้อ แม้ว่าเป็นประโยคสั้น ๆ แต่ถ้าอาการนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว อาการนี้จะเข้ามาทำลายความสมดุลในตัวเรา เข้ามาแทรกในความรู้สึกนึกคิด ทำให้พลังและศักยภาพของเราลดน้อยลงกว่าครึ่ง

ในชีวิตประจำวันของเราแต่ละคน มีหลายเรื่องที่เราสมหวัง และก็มีอีกหลายเรื่องเหมือนกันที่เรารู้สึกเสียใจ พูดไม่ออกบอกกับใครก็ไม่ได้ หรือถ้าบอกไปแล้ว....อาจทำให้ความทุกข์ที่มีอยู่ มีมากกว่าเดิม อาการที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก บางครั้งเหนื่อย เบื่อ อ่อนล้า มีความคับข้องใจ ตัดสินปัญหาง่ายๆที่น่าจะทำได้ แต่ก็ทำไม่ได้ ทางจิตวิทยาเราเรียกว่า อาการท้อ หรือถ้าพูดให้เป็นวิชาการหน่อย เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า ความท้อถอย
ในเรื่องความท้อถอย มักเกิดขึ้นกับบุคคลที่อยู่ในช่วงอายุ 20-40 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลในช่วงอายุอื่นจะไม่มีความท้อ บางท่านอาจเกิดอาการท้อเป็นช่วงๆ บางท่านโชคดีไม่รู้จักความท้อ แต่มีหลายท่านที่รู้จัก และหลายท่านที่กำลังท้อ ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้ รายการราชมงคลมีแนวทางที่จะช่วยให้ท่านบรรเทาความท้อลงได้บ้าง
มนุษย์เรามีความท้อถอยซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการ 3 ลักษณะ คือ
1. ลักษณะของความท้อถอยทางด้านอารมณ์ หรือ ความอ่อนล้าทางอารมณ์ ได้แก่ความรู้สึกเบื่อหน่าย ความอ่อนล้า หมดเรี่ยวหมดแรง เกิดความเครียด ความคับข้องใจ ไม่สบอารมณ์ไปทุกเรื่อง
2. ลักษณะของความท้อถอยที่เกิดจากสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น ได้แก่ ลักษณะของบุคคลที่ไม่สนใจในพฤติกรรมของใครๆ ไม่ยินดียินร้าย ใครจะทักก็ช่างใครไม่ทักก็ช่าง ไม่ใส่ใจพฤติกรรมคนอื่น มีเจตคติและแนวคิดที่ไม่ดีต่อคนอื่น มองคนอื่นในแง่ร้าย ระแวง ไม่ไว้ใจคนอื่นมองเห็นเพื่อนไม่ใช่เพื่อน คิดทำร้ายตนเองและคิดว่าคนอื่นจะทำร้ายตนเช่นกัน บุคคลในกลุ่มนี้จะรู้สีกว่าตนเองด้อยค่า มีความรู้สึกทางด้านลบ
3. ลักษณะของความท้อถอยที่เกิดจากการไม่ประสบความสำเร็จในการทำงานของตน บางท่านรู้สึกเองว่าตนเองไร้ความสามารถ การทำงานล้มเหลว งานไม่สมกับที่ตั้งใจ บุคคลกลุ่มนี้จะมองคุณค่าของตนเองต่ำ
ความท้อถอย อาจแบ่ง ได้ 3 ระดับ คือ ความท้อถอยในระดับสูง ความท้อถอยในระดับกลาง และความท้อถอยในระดับต่ำ โดยในแต่ละระดับบุคคลจะมีพฤติกรรม ดังนี้คือ
ความท้อถอยในระดับสูง คนๆนั้นจะมีความอ่อนล้าทางอารมณ์ค่อนข้างมากและมีความรู้สึกด้อยในคุณค่าของตนเองมากเช่นกัน แต่ในเรื่องความสำเร็จของงานบุคคลในกลุ่มนี้จะรู้สึกว่างานของตนไม่พัฒนา หรือไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร หรืองานอยู่ในระดับต่ำนั่นเอง
ความท้อถอยในระดับปานกลาง บุคคลประเภทนี้ จะมีความท้อในในสามลักษณะที่กล่าวมาในระดับปานกลาง เรียกได้ว่าอาการท้อถอยมีเหมือนกันแต่มีในระดับกลางๆ ยังไม่เข้ามาทำลายอารมณ์และความรู้สึกมากนัก
ความท้อถอยในระดับต่ำ บุคคลในกลุ่มนี้น่าสนใจเพราะ บุคคลในกลุ่มนี้จะมีความท้อถอยในเรื่องความอ่อนล้าทางอารมณ์และความรู้สึกด้อยคุณค่าในตนเองต่ำ สิ่งที่น่าสนใจคือ บุคคลในกลุ่มนี้ จะมีความสำเร็จส่วนบุคคลสูง
มีนักจิตวิทยาหลายท่านได้อธิบายสาเหตุของความท้อถอยของบุคคลว่ามีสาเหตุดังต่อไปนี้
ประการแรกทางด้านบุคลิกภาพ บุคลิกภาพเป็นปัจจัยภายในที่ทำให้บุคคลมีอาการท้อถอย บุคลิกภาพที่ทำให้บุคคลท้อถอย คือ
q บุคลิกภาพที่พึ่งพาคนอื่น เป็นบุคคลที่กลัวง่าย วิตกกังวลง่าย ชอบที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ทำงานตามคำสั่ง กลุ่มคนพวกนี้ถ้าเกิดอาการท้อ จะท้อถอยอย่างรุนแรง
q บุคลิกภาพที่ขาดความอดทน ขาดความอดกลั้น บุคคลประเภทนี้มักเป็นคนหัวดื้นบอกไม่ฟังเคารพความคิดเห็นของตนเองว่าถูกต้อง ปฏิเสธความคิดเห็นของคนอื่น บุคคลประเภทนี้มักไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนตัว และชีวิตงานเพราะความดื้อของตน จึงเป็นสาเหตุให้สะสมความท้อไว้ในตัวค่อนข้างมาก
q บุคลิกภาพที่เชื่อมั่นตนเองสูง คิดแต่ว่าตนเองเก่ง ชอบเอาแต่ใจตนเองจนเป็นนิสัย มั่นใจจนทำงานพลาดมองไม่เห็นปัญหาของตน นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ตัวเองเชื่อว่าตนเองถูก ตนเองทำดี พอท้ายสุดไม่ถูก ไม่ดี ไม่เก่ง อย่างที่ตนเองคิด ความท้อถอยก็เกิด
q บุคลิกภาพที่มีความรับรู้ตนเองต่ำ จิตใจไม่มั่นคง ไม่มั่นใจไปซะทุกเรื่อง ทำอะไรก็รู้สึกผิดไปทุกอย่าง คนในกลุ่มนี้มีความท้อแน่นอน
ประการที่สองทางด้านอายุ
การวิจัยจากหลายหน่วยงานทั้งจากต่างประเทศและในประเทศพบว่า บุคคลที่มีอายุน้อย ความท้อถอย มีมากกว่าบุคคลที่สูงอายุ ทั้งนี้เพราะ ความท้อถอยมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ วุฒิภาวะ การรู้จักชีวิตมากขึ้น รวมไปถึงบุคคลที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ย่อมมีความท้อถอยในระดับต่ำ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีอายุ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากจะไม่มีคามท้อถอยนะคะ เราทุกคนอาจเกิดอาการท้อถอยได้เช่นกันแล้วแต่ระดับความรุนแรงของปัญหาและวิธีการเลือกแนวทางแก้ไขของแต่ละท่าน แต่สำหรับข้อนี้ เชื่อว่าอายุน้อยความรุนแรงของความท้อ ก็มีมาก ถ้าเรามีเด็ก ๆ ในปกครอง เราอย่าสร้างความกดดันให้เขาคะ อย่าคาดหวังว่าเขาต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องเป็นสิ่งที่เราขีดเส้นให้เดิน ความคิดเช่นนี้จะทำให้ตัวท่านสร้างความกดดันให้เด็กๆในปกครอง จงให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาต้องการจะเป็น สอนเรื่องคุณธรรม และการดำรงตนอย่างถูกทำนองคลองธรรม เท่านี้ความท้อก็ไม่เกิดกับเด็กๆในปกครองแต่ถ้าท่านยิ่งมีอายุสูงหน้ากากทางสังคมยิ่งสูง มีพฤติกรรมเสแสร้ง ตัวตนภายนอกกับตัวตนภายในไม่สอดคล้องกัน นานวัน อายุมากขึ้นท่านก็จะกลายเป็นคนเริ่มท้อ เหนื่อย ล้า และอ่อนเปลี้ยใจในที่สุด พอถึงเวลานี้แม้อายุจะมาก ประสบการณ์จะมากสิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยท่านเลย
ประการที่สามสถานภาพการสมรส
ความท้อมักเกิดกับคนโสดมากกว่าคนสมรสแล้ว ความท้อยังสัมพันธ์กับความเหงา คนโสดทั้งหญิงและชาย ถ้าเกิดอาการท้อถอย บุคคลในกลุ่มนี่จะเกิดอาการนานและค่อนข้างรุนแรง แต่สำหรับบุคคลสมรสแล้ว ถ้าสภาพการสมรสเป็นไปด้วยดีมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ครอบครัวเข้าใจกัน ครอบครัวมีความรักความเข้าใจเป็นพื้นฐาน เมื่อมีปัญหาใดในครอบครัวก็สามารถจัดการได้ในเวลาไม่นานนัก บุคคลที่มีครอบครัวอย่างที่กล่าวความท้อย่อมอยู่ในระดับต่ำ แต่ถ้าบุคคลที่มีครอบครัวดีแต่ชีวิตการทำงานล้มเหลว หรือไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องงาน บุคคลก็จะมีความท้อถอยมาก และผู้ชายจะมีอาการท้อถอยมากกว่าผู้หญิงในกรณีนี้เพราะเมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้น ฐานะครอบครัวดีขี้น ลูกๆดี สิ่งทีผู้ชายปรารถนาคือ การก้าวไปสู่ตำแหน่งของงานที่สูงกว่าแต่ถ้าเผอิญงานล้มเหลว ผู้ชายจะมีระดับความท้อมาก ความสุขของครอบครัวความสำเร็จของงานเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ในการมีชีวิตบางครั้งเราคงไม่ได้ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน ถ้าบุคคลยอมรับสภาพ และพยายามลดความต้องการของตนมา ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการเล่นเกม จริงใจต่องาน จริงใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทำงานเพราะงานนั้นเป็นงานของเราไม่คาดหวังอะไรมากนัก บ้างครั้งอาจเกิดความสุขได้เช่นกัน การแข่งขันที่ดีที่สุดคือการแข่นขันกับตัวเอง ไม่เอาคนอื่น สิ่งอื่นมาเป็นเงื่อนไขของสิ่งใดๆทั้งสิ้น เท่านี้ความท้อก็ห่างไกลตัวเรา การที่เรามีครอบครัวดี ความสำเร็จในชีวิตมากกว่าครึ่งแล้ว
ประการที่สี่การปฏิบัติงานในความรับผิดชอบ
ท่านเชื่อหรือไม่ว่าอาการท้อของบุคคลมีสาเหตุมาจากการปฏิบัติงานอยู่หลายเปอร์เซ็นเช่นกัน ถ้าเป็นช่วงแรกๆของการทำงาน เริ่มตั้งแต่ 2 ปีแรกของการทำงานบุคคลจะเกิดความท้อได้ง่าย ยิ่งปฏิบัติงานแบบไม่มีใครช่วยใคร บุคคลยิ่งเกิดอาการท้อมากขึ้น แต่ก็มีบางท่านที่เข้าสู่ระบบงานโดยมีเพื่อนร่วมงาน มีพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือดี บุคคลประเภทนี้นับว่าเป็นคนที่โชคดีที่สุด เพราะจะมีอาการท้อถอยน้อยมาก เมื่อมีปัญหาใดๆก็มีเพื่อนคอยแนะมีพี่คอยชี้ทาง แต่บุคคลที่ไม่มีใครคอยช่วยเหลือ ยืนอยู่ด้วยขาของตนอง มีปัญหาใดๆมากระทบ ความท้อถอยจึงเกิดขึ้นได้ง่าย แก้ปัญหาความท้อไม่ได้ งานก็ทำไม่สำเร็จเดี๋ยวก็เกิดปัญหานั่นปัญหานี่ งานในความรับผิดชอบก็ตกต่ำลง บางที่งานยังไม่ถึงกับตกต่ำแต่เกิดอาการท้อได้
การแก้ไขอาการท้อ หรือ การสร้างพลังไม่ให้เกิดความท้อถอย สามารถกระทำได้ดังนี้ คือ
1. ทุกสิ่งทุกอย่างต้องแก้ไขที่ตัวเราเอง อาการท้อถอยเกิดขึ้น ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยอ่อน ล้า เกิดความหวั่นไหวทางอารมณ์ ความวิตกกังวลอยู่ในระดับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรเราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าที่ท้อ ๆ อยู่นี่มันมาจากสาเหตุของครอบครัว สาเหตุจากงาน เพื่อนร่วมงาน ระบบงาน หรือสาเหตุอะไร พอได้สาเหตุนั้นแล้วเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เรียงลำดับของปัญหาก่อนหลัง ปัญหาใดที่มีความรุนแรงน้อยเอามาแก้ก่อน พอเริ่มแก้ไขได้ ก็เริ่มแก้ไขปัญหาลำดับถัดไป บางท่านมีสไตล์ไม่เหมือนใคร ท่านอาจแก้ที่ปัญหาใหญ่เลย ความท้ออันใหญ่หมดก่อนค่อยๆแก้สาเหตุแห่งความท้อเล็กๆ ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละท่าน เพราะคนที่รู้ดีว่าวิธีการใดดีที่สุดก็คือตัวท่านเอง
2. อย่าเป็นคนตั้งความหวัง ความปรารถนาที่สูงสุดเอื้อม เพราะสิ่งต่างๆในชีวิตไม่สมดุลอย่างที่คิด ยิ่งความคาดหวังกับผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานบางครั้งมันอาจเดินสวนทางกัน ส่วนปัจจัยใดไม่อาจสรุปได้ หรือไม่อาจเดาใจเจ้านายได้ พอมาถึงขั้นนี้ให้คิดเสียว่า ความหวัง ความปรารถนาของเราสูงไป ทำให้เราไปไม่ถึงดวงดาว ก็ทำงานกันไป ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด ยึดงานเป็นตัวตั้งอย่ายึดความท้อเป็นเพื่อนร่วมทางชีวิต บางทีหลายสิ่งหลายอย่างในวันนี้ที่ไม่ดีเราอาจได้ดีในส่วนอื่นก็ได้ เรียกได้ว่าเมื่อมีชีวิตก็หวังกันไป ให้กำลังใจตัวเองไป ถ้าเราไม่รู้จักให้กำลังใจตนเองใครที่ไหนจะคอยมาให้กำลังใจเรา
3. สร้างเจคติเรื่องงานใหม่ ให้ท่านคิดว่า งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน ทำงานมากๆงานก็จะคุ้มครองคนทำงานเสมอ อย่าท้อ เช้าขึ้นมาเรารับประทานอาหารหลายอย่างแต่เราไม่กินอยู่อย่างหนึ่งคะ คือไม่กินลูกท้อ ไม่กินลูกหมากรากไม้อะไรที่ทำให้เราห่อเหี่ยว สร้างเจตคติใหม่ด้วยตัวเราเอง สร้างพลังและศักยภาพด้วยตัวเรา ไม่เอาตัวเราเปรียบเทียบกับคนอื่น เท่านี้ความท้อ ไม่มาเยือนท่านแน่
 

ที่มา http://socialscience.igetweb.com/index.php?mo=3&art=71552

No comments:

Post a Comment