Saturday, April 8, 2017

การอ่านแผนที่

1. เส้นชั้นความสูง
เส้นชั้นความสูง คือ เส้นสมมติที่ลากไปตามพื้นภูมิประเทศบนแผนที่ภูมิประเทศ ผ่านจุดที่มีระดับความสูงเดียวกัน ในแผนที่ภูมิประเทศ เส้นชั้นความสูงแสดงด้วยสีน้ำตาล และมีสีน้ำตาลเข้มในกรณีที่เป็นเส้นชั้น
ความสูงหลัก (Index contour) เส้นชั้นความสูงมีคุณสมบัติดังนี้
– เส้นชั้นความสูงทุกเส้นแสดงค่าระดับความสูงในแนวตั้ง
– เส้นชั้นความสูงทุกเส้นอยู่ในพื้นแนวนอนและระนาบเดียวกัน
– เส้นชั้นความสูงแสดงรูปแบบ และลักษณะภูมิประเทศ
– เส้นชั้นความสูงเป็นเส้นปิด คือ บรรจบตัวเองเป็นวงๆ ไป แต่ในแผนที่ระวางเดียวอาจไม่ปรากฏเส้นวงปิดที่สมบูรณ์ได้เมื่อนำแผนที่ระวางติดต่อมาต่อเข้าจึงบรรจบเป็นวงปิด
– เส้นชั้นความสูงแต่ละช่วงเส้นอาจจะมีระยะห่างต่างๆ กันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิประเทศถ้าหากพื้นที่ลาดชันมากเส้นชั้นความสูงชิดกันมากกว่าภูมิประเทศที่มีความลาดชันน้อย
– เส้นชั้นความสูงโดยทั่วไปไม่ทับกัน ยกเว้นบริเวณที่เป็นหน้าผา
– เส้นชั้นความสูงมักหันด้านหยักแหลมไปยังด้านต้นน้ำ
– ทุกๆ ตำแหน่งบนเส้นชั้นความสูงเดียวกันมีค่าความสูงเท่ากัน
เนื่องจากภูมิประเทศบนพื้นผิวโลกมีลักษณะแตกต่างกันหลายแบบ บริเวณซึ่งเป็นที่สูงชันมีเส้นชั้นความสูงจำนวนมากอยู่ชิดกัน ทำให้ดูสับสนจำเป็นต้องหาวิธีให้ดูง่ายขึ้น โดยการกำหนดเส้นชั้นความสูงหลักขึ้นส่วนบริเวณซึ่งมีความลาดชันน้อยมีเส้นชั้นความสูงห่างกันมาก พื้นที่บางแห่งเป็นแอ่งจำเป็นต้องมีเส้นชั้นความสูงซึ่งมีลักษณะพิเศษออกไปเพื่อที่จะได้สังเกตเห็นได้ง่าย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เส้นชั้นความสูงจึงมีหลายชนิด นักภูมิศาสตร์ได้กำหนดลักษณะและสัญลักษณ์ของเส้นชั้นความสูงออกเป็น 5 แบบ เพื่อให้ผู้ใช้แผนที่สามารถพิจารณาลักษณะภูมิประเทศได้โดยสะดวกและรวดเร็วดังต่อไปนี้ คือ
– เส้นชั้นความสูงหลัก (Index contour) เส้นชั้นความสูงชนิดนี้เป็นเส้นชั้นความสูงหลักบอกค่าระดับความสูงด้วยเลขลงตัว เช่น 100 200 และ 300 เป็นต้น และมีความหนาทึบใหญ่กว่าเส้นชั้นความสูงอื่นๆ จึงสังเกตได้ง่าย และปกติมีตัวเลขกำกับไว้
– เส้นชั้นความสูงแทรก (Supplemental contour) เส้นชั้นความสูงชนิดนี้เป็นเส้นชั้นความสูงแทรกอยู่ระหว่างเส้นชั้นความสูงรอง เพื่อแสดงความสูงเสริมเพราะบริเวณนั้นมีเส้นชั้นความสูงรองห่างกันมาก เส้นชั้นความสูงแทรกแสดงด้วยเส้นประ ในแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 กำหนดเส้นชั้นความสูงแทรกช่วงละ 10 เมตร ดังนั้นแต่ละเส้นชั้นความสูงจึงกำหนดตัวเลขของระดับความสูงไว้ที่เส้นดังตัวอย่างต่อไปนี้ 30 50 70 90 110 130 และ 150 เป็นต้น
– เส้นชั้นความสูงประมาณ (Approximate contour) เส้นชั้นความสูงชนิดนี้เป็นเส้นชั้นความสูงที่กำหนดขึ้นเองโดยประมาณ ทั้งนี้เพราะผู้ทำแผนที่ไม่ได้ข้อมูลระดับความสูงที่แท้จริงบริเวณดังกล่าว อาจเป็นเพราะรูปถ่ายทางอากาศซึ่งนำมาใช้เขียนแปลเป็นแผนที่ภูมิประเทศนั้นถูกเมฆบัง ดังนั้นในบริเวณดังกล่าวจึงใช้เส้นประเพื่อประมาณความสูงต่อจากเส้นชั้นความสูงหลัก หรือเส้นชั้นความสูงรอง
– เส้นชั้นความสูงของแอ่ง (Depression contour) เส้นชั้นความสูงชนิดนี้เป็นเส้นชั้นความสูงซึ่งต่ำกว่าบริเวณรอบๆ ของเส้นชั้นความสูงอื่นๆ เส้นชั้นความสูงชนิดนี้มีลักษณะพิเศษตรงที่มีขีดสั้นๆ ในแนวที่ตั้งได้ฉากกับเส้นชั้นความสูง ปลายของขีดหันไปทางด้านลาดลง
ภาพชนิดของเส้นชั้นความสูง
ภาพชนิดของเส้นชั้นความสูง

2. ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะของภูมิประเทศที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ ได้แสดงลักษณะโดยเส้นชั้นความสูงรูปแบบต่างๆดังต่อไปนี้
2.1 ภูเขาและยอดเขา (Mountain/ Hill and Peak) บริเวณที่เส้นชั้นความสูงล้อมเป็นวงซ้อนกันหลายวงๆ คือภูมิประเทศที่เป็นภูเขา พื้นที่ซึ่งอยู่ตรงกลางของเส้นชั้นความสูงรอบในสุดมีระดับความสูงสูงสุดคือ ยอดเขาที่สำคัญมักบอกระดับความสูงของจุดสูงสุดของยอดเขาไว้ด้วย
2.2 สันเขา (Ridge) คือ แนวต่อเนื่องของจุดสูงสุดของภูเขาที่ติดต่อกัน หาได้ในแผนที่โดยการลากเส้นไปตามแนวที่มีระดับความสูงมากที่สุด ซึ่งสังเกตได้จากเส้นชั้นความสูง
ภาพสันเขา
ภาพสันเขา
ภาพสันเขา
ภาพสันเขา
2.3 จมูกเขา (Spur) คือ ส่วนที่แยกออกจากแนวสันเขาใหญ่ลาดลงสู่หุบเขาใหญ่ เส้นชั้นความสูงบริเวณจมูกเขามีลักษณะโค้งยื่นไปสู่ลำน้ำสายใหญ่ ส่วนสองข้างของจมูกเขาขนาบด้วยลำน้ำสาขา
ภาพสมูกเขา
ภาพจมูกเขา
2.4 สันเขารูปอานม้าหรือกิ่ว (Saddle) คือ ส่วนของสันเขาที่หยักต่ำลง เส้นชั้นความสูงบริเวณดังกล่าวไม่ติดต่อเป็นวงกลมเดียวกัน แยกออกเป็นคนละวง
2.5 หุบเขา (Valley) เป็นบริเวณที่เส้นชั้นความสูงมีระดับความสูงลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงที่ต่ำสุดซึ่งเป็นร่องน้ำ มีแม่น้ำหรือลำธารไหลผ่าน เส้นชั้นความสูงมีลักษณะหยักเป็นมุมแหลมขึ้นไปทางต้นน้ำ
ภาพหุบเขา
ภาพหุบเขา
2.6 โกรกธาร (Gorge) เส้นชั้นความสูงที่อยู่ในหุบเขา มีลักษณะเรียงขนานกันและชิดกันมาก
2.7 หน้าผา (Cliff) เส้นชั้นความสูงอยู่ชิดกันมาก หรือซ้อนทับกันถ้าหากเป็นหน้าผาชัน
ภาพหน้าผาชัน
ภาพหน้าผาชัน
2.8 แอ่ง (Sink) เส้นชั้นความสูงแสดงแอ่งน้ำล้อมเป็นวงเดียวหรือหลายวงล้อมรอบกัน
2.9 ที่ราบ (Plain) เส้นชั้นความสูงอยู่ห่างกันมากหรือแทบไม่มีเส้นชั้นความสูงผ่านเลย
- ภูมิประเทศคาสต์ (Karst topography) คือ บริเวณซึ่งมีการระบายน้ำใต้ดิน บนพื้นผิวภูมิประเทศหินปูนในเขตภูมิอากาศชุ่มชื้น เช่น ประเทศไทย มักปรากฏยอดเขาโดดๆ อยู่สลับกับหลุมยุบ (Sinkhole) เส้นชั้นความสูงในบริเวณดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นวงๆ อยู่กระจายกันสลับกับวงของเส้นชั้นความสูงแสดงแอ่งต่ำบริเวณดังกล่าวนี้มักจะไม่มีร่องน้ำบนพื้นผิว เนื่องจากน้ำซึมลงในหินปูน และรวมเป็นลำธารใต้ดินบ้าง น้ำซับบ้าง
- ความลาด (Slope) ของภูมิประเทศมีหลายลักษณะ เช่น ความลาดเป็นแบบลาดสม่ำเสมอ (Uniform slope) ความลาดเว้า (Concave slope) และความลาดนูน (Convex slope)จากแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 ซึ่งมีสัญลักษณ์แสดงค่าความสูงของภูมิประเทศโดยใช้เส้นชั้นความสูงที่มีค่าของความต่างของเส้นชั้นความสูงเท่ากับ 20 เมตร สามารถตีความลักษณะความลาดชันของภูมิประเทศทั้งสามแบบได้ โดยพิจารณาจากความห่างของเส้นชั้นความสูงได้ดังนี้
  ฃ
   ความลาดแบบสม่ำเสมอ พิจารณาได้จากบริเวณที่เส้นชั้นความสูงมีระยะห่างเท่าๆ กัน ถ้าเส้นชั้นความสูงเหล่านั้นอยู่ห่างกันอย่างสม่ำเสมอแสดงว่าพื้นที่นั้นมีความลาดชันน้อย แต่ถ้าเส้นชั้นความสูงเหล่านั้นอยู่ชิดกันอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีความลาดชันมาก
        ภาพความลาดสม่ำเสมอไม่ชัน
ภาพความลาดสม่ำเสมอไม่ชัน
    ความลาดเว้า เป็นลักษณะของภูมิประเทศที่มีความลาดชันไม่สม่ำเสมอ โดยมีส่วนบนค่อนข้างชันมากกว่าส่วนล่าง ความลาดเว้าสามารถพิจารณาได้จากเส้นชั้นความสูงที่อยู่ในที่สูงมีระยะชิดกันและค่อยๆ ห่างกันในระดับต่ำลงมา
ภาพความลาดเว้า
ภาพความลาดเว้า
    ความลาดนูน เป็นลักษณะของภูมิประเทศที่มีความลาดชันไม่สม่ำเสมอ โดยมีพื้นที่ส่วนบนค่อนข้างชันน้อยกว่าส่วนล่าง ความลาดนูนสามารถพิจารณาได้จากเส้นชั้นความสูงที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับความลาดเว้ากล่าวคือ เส้นชั้นความสูงที่อยู่ในระดับต่ำอยู่ชิดกันและค่อยๆ ห่างขึ้นในระดับความสูงมากขึ้นไป
   ภาพความลาดนูน
ภาพความลาดนูน

3. การอ่านและการใช้แผนที่ในภูมิประเทศ
3.1 การจัดแผนที่ให้ถูกทาง (Map orientation)
ขั้นแรกของการนำแผนที่ไปใช้ในภูมิประเทศก็คือ การจัดแผนที่ให้ถูกทางซึ่งการจัดแผนที่นี้มีความสำคัญอย่างมาก ในการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องสำหรับการอ่านแผนที่ และนำแผนที่ไปใช้เพื่อหาตำแหน่งต่างๆ บนภูมิประเทศได้อย่างถูกต้อง การจัดแผนที่ให้ถูกทางทำได้ง่ายโดยการใช้เข็มทิศวางบนเส้นกริดในแผนที่ ให้แนวเหนือ-ใต้ของเข็มทิศทาบกับเส้นกริดพอดี เมื่อลูกศรชี้ไปทางทิศเหนือจึงแปลว่าทิศที่แผนที่หันไปนั้นเป็นทิศเหนือในภูมิประเทศจริงเช่นกัน อย่างไรก็ตามถ้าหากต้องการความละเอียดของงานมากกว่านี้ ก็สามารถปรับแก้ทิศได้จากการเทียบทิศเหนือกริดกับทิศเหนือแม่เหล็กที่ระบุไว้นอกขอบระวางแผนที่ เนื่องจากทิศเหนือที่เราใช้จริงนั้นเป็นทิศเหนือแม่เหล็กแต่ทิศเหนือในแผนที่นั้นคือทิศเหนือกริด
3.2 การหาตำแหน่งโดยวิธีสกัดกลับ (Resection)
การสกัดกลับเป็นวิธีการกำหนดตำแหน่งโดยต้องมีเป้าหมายเด่นๆ ของภูมิประเทศที่ทราบตำแหน่งแล้วอย่างน้อย 2 แห่งหรือมากกว่า การสกัดกลับสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ และการสกัดกลับด้วยวิธีกราฟิก
– การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ วิธีนี้ทำได้โดยเลือกเป้าหมายเด่นๆของภูมิประเทศที่ปรากฏชัดเจนในแผนที่ และอยู่ห่างกันพอที่จะสร้างมุมได้ โดยมีผู้สังเกตเป็นจุดยอดของมุมนั้น แล้วใช้เข็มทิศเล็งไปยังเป้าหมายทั้งสองทำการบันทึกค่ามุมแอซิมัทแม่เหล็ก (Magnetic azimuth) แล้วใช้ไม้โปรแทรกเตอร์วัดค่ามุมแอซิมัทกลับ (Back azimuth) ณ เป้าหมายทั้งสอง ลากแขนของมุมทั้งสองมาตัดกัน จุดที่เส้นทั้งสองตัดกันคือตำแหน่งของผู้สังเกต  

ภาพ การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)
ภาพ การสกัดกลับโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)
– การสกัดกลับโดยการแสดงด้วยวิธีกราฟิก วิธีนี้ไม่ต้องวัดมุม แต่ใช้การเล็งด้วยไม้บรรทัดหรือไม้เล็งอื่นๆ มีวิธีการปฏิบัติดังนี้โดย กางแผนที่ออกวางให้ถูกทิศทาง สังเกตหาเป้าหมายที่เด่นชัดอย่างน้อย 3 เป้าหมาย ในภูมิประเทศ และต้องเป็นเป้าหมายที่ปรากฏในแผนที่ด้วย สมมติให้ตำแหน่ง A B และ C ในภูมิประเทศซึ่งปรากฏอยู่ในแผนที่ a b และ c ตามลำดับ ตำแหน่งทั้งสองควรจะมีง่ามมุมไม่เกิน 90 องศา จากตำแหน่งผู้สังเกต
3.3 การหาตำแหน่งโดยวิธีสกัดตรง (Intersection)
การสกัดตรง เป็นวิธีการกำหนดตำแหน่งของที่หมายใดๆ ในภูมิประเทศลงในแผนที่ โดยต้องมีเป้าหมายที่ทราบตำแหน่งแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง การสกัดตรงทำได้ดังนี้ การสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์วิธีการปฏิบัติ ดังนี้
– เลือกตำแหน่งของผู้สังเกตที่เห็นเด่นชัด มีปรากฏตรงกันทั้งในแผนที่และในภูมิประเทศและเป็นตำแหน่งที่ลากเส้นตัดกันได้จากตำแหน่งที่ 1 เล็งเข็มทิศไปยังเป้าหมายแล้วบันทึกค่ามุมแอซิมัทที่วัดได้แล้วเดินไปยังตำแหน่งที่ 2 ทำเช่นเดียวกันกับครั้งแรก
– กางแผนที่ออก สร้างแนวทิศเหนือแม่เหล็กให้สัมผัสกับตำแหน่งที่ 1 แล้วใช้ไม้โปรแทรกเตอร์สร้างมุมแอซิมัท ทำเช่นเดียวกันกับตำแหน่งที่ 2 ลากแขนของมุมแอซิมัท จากตำแหน่งทั้งสองมาตัดกันก็จะได้ตำแหน่งเป้าหมายที่ต้องการ
– ส่วนการสกัดตรงโดยแสดงด้วยวิธีกราฟิก มีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
1) เลือกตำแหน่งของรายละเอียดในภูมิประเทศให้ตรงกับรายละเอียดตำแหน่งในแผนที่อย่างน้อย 2 แห่ง วางแผนที่ลงบนพื้นราบ จัดแผนที่ให้ถูกทิศทาง จากตำแหน่งที่ 1 ใช้ไม้บรรทัดเล็งให้ตรงไปยังเป้าหมาย ลากเส้นจากตำแหน่งสังเกตให้ตรงไปยังเป้าหมาย
2) จากตำแหน่งที่ 2 ใช้ไม้บรรทัดวางให้สัมผัสจุดที่ 2 เล็งให้ตรงไปยังเป้าหมายเดิมลากเส้นตรงจากจุดนี้ตรงไปยังเป้าหมาย ซึ่งจะไปตัดกับเส้นตรงที่ลากจากจุดแรก ณ จุดหนึ่งคือตำแหน่งของเป้าหมายนั่นเอง
   ภาพการสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์ ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)
.ภาพการสกัดตรงโดยใช้เข็มทิศและไม้โปรแทรกเตอร์
ที่มา : สรรค์ใจ กลิ่นดาว (2531)

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์
ที่มา : http://www.gistda.or.th/main/th/node/916

No comments:

Post a Comment