Saturday, August 13, 2016

ประวัติพระบรมราชานุสาวรีย์พระพี่นางสุพรรณกัลยา


ในยุคสมัยแห่งการทำสงครามระหว่างราชอาณาจักรทั้งหลาย ที่เหล่าวีรบุรุษเข้าชิงชัยต่อรบกันในสมรภูมิ ในช่วงเวลาเหล่านั้น ชะตากรรมของอิสตรีไม่ว่าจะเป็นหญิงสามัญชนหรือขัติยราชนารีผู้สูงศักดิ์ กลับมิแตกต่างอันใดกับทรัพย์สมบัติที่จะตกเป็นสินสงครามและรางวัลสำหรับผู้กำชัยชนะในการศึก

พระสุพรรณกัลยา ทรงเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรศรีอโยธยากับพระวิสุทธิกษัตรี พระนางทรงมีพระอนุชาสองพระองค์ องค์แรก คือ พระนเรศ หรือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ส่วนองค์ที่สอง คือ พระเอกาทศรถ เรื่องราวของพระสุพรรณกัลยามิได้มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารหลัก ๆ ของไทย หากแต่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารบางฉบับของพม่ากับพงศาวดารฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัดและฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า โดยพงศาวดารฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นเรียบเรียงจากคำบอกเล่าของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรกษัตริย์อโยธยาที่ถูกกองทัพพม่านำพระองค์ไปประทับยังกรุงอังวะหลังการเสียกรุงครั้งที่สอง ส่วนฉบับคำให้การชาวกรุงเก่าเรียบเรียงจากคำบอกเล่าของเชลยชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไปในเหตุการณ์เดียวกันในพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลาได้ระบุไว้ว่า เจ้าฟ้าสองแคว กษัตริย์อยุธยาทรงถวายพระธิดาวัย 17 ชันษา นามว่า พระสุวรรณ ให้เป็นบาทบริจาริกาพระเจ้าบุเรงนอง ส่วนในพงศาวดารอีกฉบับ คือ มหายาสะเวง เต๊ะ ของมหาสีหตู ได้กล่าวถึงเรื่องของพระสุพรรณกัลยาไว้ว่า ทรงเป็นหนึ่งในบาทบริจาริกาหรือมเหสีน้อยที่มีอยู่ทั้งหมด 42 องค์ของพระเจ้าบุเรงนอง โดยในพงศาวดารนี้ได้ระบุถึงพระนางไว้ว่า ”อะเมี้ยวโยง พระพี่นางในพระนเรศ กษัตริย์อโยธยา ประสูติพระราชธิดา นามว่า เมงอทเว”

ส่วนในพงศาวดารฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัดและฉบับคำให้การชาวกรุงเก่าได้กล่าวถึงเรื่องของพระนางไว้ค่อนข้างละเอียด โดยกล่าวไว้ว่า หลังจากพระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาได้ในปี พ.ศ. 2112 พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งพระมหาธรรมราชา เจ้าผู้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นเป็นกษัตริย์อโยธยาและในปีเดียวกันนั้น พระมหาธรรมราชาก็ได้ถวายพระสุพรรณกัลยา พระราชธิดาของพระองค์ให้เป็นบาทบริจาริกาของพระเจ้าบุเรงนอง

ครั้นในปี พ.ศ. 2113 พระนเรศ พระราชโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ถูกนำมาเป็นองค์ประกันยังกรุงหงสาวดีแต่เมื่อครั้งสงครามช้างเผือก ได้ตัดสินพระทัยเสด็จหนีกลับกรุงศรีอโยธยา พระองค์ได้ลอบไปเข้าเฝ้าพระสุพรรณกัลยายังพระตำหนักและตรัสชวนให้เสด็จหนีไปด้วยกัน ทว่าพระนางทรงปฏิเสธด้วยยามนั้นเพิ่งจะมีพระธิดา จึงทรงเกรงว่าจะเป็นภาระและทำให้หนีไปกันไม่พ้น พระนเรศจึงจำพระทัยเสด็จกลับมาแต่เพียงพระองค์เดียว อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุการณ์ตรงนี้ มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านในปัจจุบันลงความเห็นกันว่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ในตอนที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศเอกราชมากกว่าเมื่อ ปีพ.ศ. 2126 มากกว่า โดยในเวลานั้น พระนเรศหรือ พระนเรศวรได้ยกทัพไปช่วยหงสาวดีทำศึกกับกรุงอังวะตามบัญชาของพระเจ้านันทบุเรงทว่าต่อมา ทรงทราบว่าหงสาวางแผนจะลอบปลงประชนม์ พระองค์จึงประกาศตัดความสัมพันธ์กับหงสาวดีและนำทัพกลับอยุธาโดยทรงกวาดต้อนเอาเชลยไทยที่ถูกต้อนไปพม่าตั้งแต่ครั้งเสียกรุงครั้งที่หนึ่งกลับมาด้วย และเป็นได้ว่า ในครั้งนี้เองที่พระนเรศชักชวนพระพี่นางให้กลับมาด้วยกัน

หลังจากพระนเรศเสด็จกลับจากหงสาวดีแล้ว พงศาวดารทั้งสองก็มิได้กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาอีก เลย จนกระทั่งมากล่าวถึงอีกครั้งเมื่อหลังเสร็จสิ้นศึกยุทธหัตถีว่า พระเจ้านันทบุเรงทรงพิโรธเป็นอันมากที่พระนเรศวรทรงสังหารพระมหาอุปราชาในการศึกครั้งนี้ พระองค์จึงให้ลงโทษเหล่าเสนามอญที่ตามเสด็จในกองทัพมหาอุปราชาทั้งหมดด้วยการให้นำตัวเสนามอญเหล่านั้นพร้อมครอบครัวทั้งเจ็ดชั่วโคตรไปประหารด้วยการเผาทั้งเป็น จากนั้นพระเจ้านันทบุเรงก็เสด็จไปยังพระตำหนักพระสุพรรณกัลยาและทรงใช้พระแสงดาบฟันพระนางพร้อมทั้งพระธิดาจนสิ้นพระชนม์



ทั้งหมดนั้นคือ เรื่องราวของพระสุพรรณกัลยาที่บันทึกไว้ในพงศาวดารทั้งสอง อย่างไรก็ตาม หากสมมติว่า เหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้เป็นไปตามพงศาวดารทั้งสองแล้ว ชะตากรรมของพระนางน่าจะเป็นเช่นไร

หลังจากสงครามยุทธหัตถีผ่านไป อำนาจของหงสาวดีก็เสื่อมถอย บรรดาหัวเมืองทั้งหลายพากันกระด้างกระเดื่อง ต่อมา เมื่อ พระนเรศวรยกทัพมาตีกรุงหงสาวดีในปี พ.ศ. 2142 พระเจ้าตองอูและพระเจ้ายะข่ายได้สมคบกันลวงพระเจ้านันทบุเรงว่าจะมาช่วยป้องกันกรุงหงสาวดีจากกองทัพอโยธยา จากนั้นพะเจ้าตองอูก็นำกำลังทหารเข้ายึดกรุงหงสาวดีและนำพระเจ้านันทบุเรงพร้อมทั้งเหล่าพระญาติพระวงศ์ทั้งหมดไปไว้ยังเมืองตองอู แล้วพระเจ้ายะข่ายก็นำทัพเข้ากรุงหงสาวดีและกวาดต้อนผู้คนรวมทั้งทรัพย์สมบัติที่เหลือไปไว้ยังเมืองยะข่าย ก่อนจะเผากรุงหงสาวดีลงเสีย ส่วนพระเจ้านันทบุเรงนั้น ภายหลังก็ถูกวางยาพิษจนสิ้นพระชนม์ที่เมืองตองอู

ย้อนกลับมายังเรื่องของพระสุพรรณกัลยา ถ้าหากว่าพระนางไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปดังที่ระบุในพงศาวดารฉบับขุนหลวงหาวัดและฉบับกรุงเก่า พระนางก็น่าจะรวมอยู่ในกลุ่มเชลยที่ถูกกวาดต้อนไปยังเมืองตองอูหรือไม่ก็ยะข่าย และก็น่าจะประทับอยู่ที่เมืองใดเมืองหนึ่งในสองเมืองนี้ตราบจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ

และนี่ก็คือ เรื่องราวของ พระนางสุพรรณกัลยา พระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวร มหาราชของสยามประเทศ
อ้างอิง: http://www.army3.mi.th/army3_internet/mod/book/view.php?id=47&chapterid=470

No comments:

Post a Comment