Saturday, October 10, 2009

คาร์บอมบ์เป็นว่าเล่น จับตา ยูเอ็น


สถานการณ์ “ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ของประเทศไทย ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง “เสียงปืน-เสียงระเบิด” ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้วกว่า 9,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 3,600 ราย บาดเจ็บกว่า 6,000 ราย มีผู้ ได้รับผลกระทบเป็นเหยื่อความรุนแรงแล้วกว่า 9,600 ราย และระยะหลังความรุนแรงก็มีรูปแบบที่น่ากลัวมากขึ้น...

การวางระเบิดแบบ “คาร์บอมบ์” เกิดขึ้นเป็นว่าเล่น

และนี่ก็อาจจะทำให้ “ยูเอ็น” ยิ่งจับจ้องมองไทย ?!?

ทั้งนี้ แว่ว ๆ มาตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณแล้ว และยิ่งมาหนาหูมากขึ้นในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ว่าทาง องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องการจะจัดตั้ง “ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ความไม่สงบ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งก็มีข่าวว่ารัฐบาลไทยทั้งยุคก่อน-ยุคนี้แสดงท่าทีไม่ยินยอม โดยกับรัฐบาลปัจจุบันก็มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลไม่ตอบรับยูเอ็นในเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าปัญหา “ไฟใต้” เป็นเรื่องของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องของยูเอ็น แต่กระนั้น...ต่อไปจะไม่มีศูนย์ยูเอ็นในพื้นที่ไฟใต้...เรื่องนี้อาจจะยังไม่แน่ ??

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ศ.ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า... เป็นเรื่องถูกต้องที่รัฐบาลไทยตอบปฏิเสธทางยูเอ็นเกี่ยวกับการขอจัดตั้งหน่วยงานในพื้นที่ที่เกิดเหตุไม่สงบ เนื่องจากหากยูเอ็นมีการเข้ามาจัดตั้งหน่วยงานเหล่านี้ ก็จะเป็นการ “ตอกย้ำ” ภาพปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ให้รุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก

หากปล่อยให้ยูเอ็นมีการจัดตั้งขึ้นจริง ๆ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์-ความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตานานาประเทศ!! ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่เห็นด้วยกับการจะจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพราะจะเป็นการ “ยกระดับ” แสดงให้ทั่วโลกเข้าใจว่าปัญหาในภาคใต้ของประเทศไทยเป็นเรื่องสากล และประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จนหน่วยงานใหญ่ระดับโลกอย่างองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นต้องเข้ามา เหมือนในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ย่อมจะ ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย อย่างแน่นอน

“ถ้ายูเอ็นจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นมา ก็เท่ากับเป็นการสะท้อนให้เห็นความไร้น้ำยาในการแก้ปัญหา ในการบริหารจัดการกิจการภายในของรัฐบาล แต่ที่พูดแบบนี้ก็ไม่ได้มองว่าการเข้ามาจัดตั้งศูนย์ของยูเอ็นจะมีเจตนาแอบแฝงแต่อย่างใด ซึ่งเขาอาจจะหวังดีก็ได้ เพียงแต่อาจไม่เป็นผลดีกับความเชื่อมั่น กับความมั่นคงของประเทศไทย” ...ศ.ดร.ไชยวัฒน์กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ระบุผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า... เรื่องปัญหาภาคใต้นี้เป็นเรื่องภายใน ประเทศไทยก็ควรจะจัดการแก้ไขปัญหาภายในของเรากันเอง ซึ่งปัญหาในภาคใต้นั้นเป็นเรื่องความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ความรู้สึกต่างกันทางประวัติศาสตร์ ขนบธรรม เนียม ซึ่งทุกรัฐบาลเองก็มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ และการแก้ไขก็ต้องเดินไปโดยอาศัยเวลา

นักวิชาการรายนี้บอกอีกว่า... โดยส่วนตัวแล้วก็มองว่าการที่ ยูเอ็นจะขอจัดตั้งศูนย์ทำงาน ทางหนึ่งก็อาจจะมีเจตนาที่ดีที่ต้องการ เข้ามาเป็นคนกลางเพื่อการเจรจาหรือเพื่อการแก้ไขปัญหา แต่ขณะเดียวกัน อาจเป็นเรื่องที่ทำให้ปัญหาภายในของประเทศไทยกลายเป็นเรื่องสากลระหว่างประเทศ !!

กับประเด็นนี้ โดยความรู้สึกคนไทยเองก็เชื่อว่าส่วนใหญ่คงไม่อยากและคงไม่ยอมให้เกิดขึ้น เพราะอาจจะทำให้ต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ทั้งในเรื่องความมั่นคง เรื่องของเศรษฐกิจการลงทุน ดังนั้น หากยูเอ็นแสดงเจตจำนงในเรื่องนี้ ทางประเทศไทยเองก็คงต้องขอดูวัตถุประสงค์หลักของการขอเข้ามาจัดตั้งเสียก่อน ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ? จำเป็นหรือไม่จำเป็น ? เพราะ มีผลกระทบหลายด้าน

จริง ๆ แล้วยูเอ็นก็มีการตั้งสำนักงานในประเทศไทยมานานมากแล้ว แต่ถ้าจะมีหน่วยงานย่อยจัดตั้งขึ้นอีก ทางไทยก็ต้องศึกษาและดูวัตถุประสงค์ที่แท้จริงก่อน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเมื่อราวปี ค.ศ. 1960-1970 ก็เคยมีหน่วยงานของยูเอ็นเข้าไปตั้งเพื่อแก้ปัญหาระหว่างคนผิวขาว-ผิวดำ แต่ในไทยคงเป็นเงื่อนไขคนละกรณี

“เรื่องนี้เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้ายูเอ็นจัดตั้งศูนย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เหมือนเป็นการชักชวนให้หลาย ๆ ประเทศเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งหากทางยูเอ็นดื้อดึงจะตั้งให้ได้ เรื่องนี้ก็อาจ จะกลายเป็นการคุกคามความรู้สึกของคนไทยได้เช่นกัน” ...ผศ.ดร. วิบูลย์พงศ์ระบุ

ทั้งนี้ แว่ว ๆ ว่าเร็ว ๆ นี้จะมีทูตต่างประเทศลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพื่อดูสถานการณ์-ดูการแก้ปัญหาของไทย อีกคณะหนึ่ง ซึ่งจะมีผลหรือไม่มีผลถึงท่าทีของยูเอ็นต่อไทยด้วยหรือไม่อย่างไร...ยังไม่รู้ ?

ที่รู้ ๆ คือเสียงบึ้ม “คาร์บอมบ์” ทาง “ยูเอ็น” ได้ยินแน่

และก็น่าคิด-น่าติดตามว่ายูเอ็นจะมีท่าทีใด ๆ ต่อไทยอีก

ขณะที่ “เสียงบึ้มกลางเมือง” ก็เกิดถี่เป็นว่าเล่น ?!?!?.

No comments:

Post a Comment