Saturday, October 10, 2009

หลักการปฏิบัติราชการของนายทหารสัญญาบัตร

หลักการปฏิบัติราชการของนายทหารสัญญาบัตร
หลักปฏิบัติราชการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องหลักราชการ ๑๐ ประการไว้ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ ณ พระราชวังสนามจันทร์) มีดังนี้
๑. ความสามารถ                         ๖. ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป
๒. ความเพียร                           ๗. ความรู้จักนิสัยคน
๓. ความไหวพริบ ๘. ความรู้จักผ่อนผัน
๔. ความรู้เท่าถึงการ                     ๙. ความมีหลักฐาน
๕. ความซื่อตรงต่อหน้าที่ ๑๐. ความจงรักภักดี
ในสมัยปัจจุบันนี้ ใคร ๆ ก็ต้องทราบอยู่แล้วว่า การศึกษาเจริญขึ้นมากกว่าในเวลาก่อน ๆ นับเป็นอันมาก และมีตำรับตำราสำหรับสอนศิลปวิทยาแทนทุกอย่าง เหตุฉะนี้จึงทำให้คนบางจำพวกหลงไปว่า “รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา” และด้วยความหลงอันนี้ จึงทำให้หลงเลยนึกต่อไปว่าไม่ว่าจะทำการในหน้าที่ใด ๆ ข้อสำคัญมีอยู่อย่างเดียว แต่เพียงจะพยายามให้ได้คะแนนมาก ๆ ทุกคราวที่สอบไล่ในโรงเรียนและให้ได้ประกาศนียบัตรหลาย ๆ ใบ แล้วพอออกจากโรงเรียนก็เป็นอันไม่ต้องพยายามทำอะไรต่อไปอีก ทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งทรัพย์ต้องหลั่งไหลมากทีเดียว บุคคลจำพวกที่ว่านี้เมื่อเข้าทำงานแล้วถ้าแม้นไม่ได้รับตำแหน่งอันสูง หรือลาภยศเพียงพอแก่ที่ตนตีราคาไว้ ก็จะบังเกิดความไม่พอใจแล้วหมดความสุข ถ้าคนเรามีวิชาอย่างเดียว แล้วเป็นใหญ่เป็นโตได้ ป่านนี้พวกครูบาอาจารย์ทุกคนคงต้องเป็นใหญ่เป็นโตไปด้วยกันหมดแล้วนี่แสดงว่าการเป็นใหญ่เป็นโตไม่ใช่เพราะวิชาอย่างเดียวเสียแล้ว ต้องมีคุณวิเศษอื่นประกอบอีกด้วยคุณวิเศษเหล่านี้จะขอพรรณนาแต่พอสังเขปต่อไปนี้
๑. ความสามารถ มีบางคนเข้าใจผิดว่าความสามารถมีความหมายเหมือนคำว่าความชำนาญ โดยผู้ที่ได้รอบรู้วิทยาการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วและใช้ความรู้นั้นโดยอาการช่ำชอง มักกล่าวกันว่าเขาสามารถ แต่แท้จริงควรใช้คำว่าชำนาญ จะเหมาะกว่าที่จริงคำว่า “สามารถ” ต้องแปลว่า “สิ่งซึ่งการกระทำให้ความเป็นใหญ่มีมาแก่ผู้ที่มีอยู่”เพราะความสามารถเป็นสิ่งซึ่งมิได้มีอยู่ในตำหรับตำราอันใด จะสอนกันไม่ได้ คำว่าสามารถถ้าแปลให้กว้าง คือ การทำการงานเป็นผลสำเร็จได้ดีกว่าผู้ที่มีโอกาสเท่า ๆ กันความสามารถเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บังคับบัญชา ในการเลือกเฟ้นผู้บังคับบัญชาควรเพ่งเล็งดูที่ความสามารถมากกว่าดูภูมิวิชาเพราะยังมีผู้ที่มีวิชาแต่ไม่รู้จักใช้วิชานั้นให้เป็นประโยชน์จริง ๆ ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อันใด จึงเห็นได้ว่าความสามารถเป็นลักษณะหนึ่งแห่งผู้บังคับบัญชาคน
๒. ความเพียร มีพุทธภาษิตกล่าวว่า “ความเพียรเป็นเครื่องพาคนข้ามพ้นความทุกข์” คำว่า “เพียร” แปลว่า “กล้าหาญไม่ย่อท้อต่อความยากและบากบั่น เพื่อจะข้ามความขัดข้องให้จงได้ โดยใช้ความอุตสาหะ วิริยะภาพมิได้ลดหย่อน” การเพียรไม่เกี่ยวกับการมีวิชามากหรือน้อยคนเพียรอาจจะไม่มีวิชาเลยและอาจได้เปรียบผู้ที่มีวิชาแต่ขาดความเพียรด้วยเหตุที่ผู้มีวิชาความรู้น้อยกว่า กลับได้ดีมากกว่าคนที่มีวิชาความรู้มากกว่า เพราะลืมนึกไปว่าวิชานั้นเป็นสมบัติเฉพาะบุคคลหนึ่ง หรือหมู่หนึ่งหมู่ใดเท่านั้นก็หามิได้วิชาความรู้ย่อมเป็นของกลางสำหรับโลก เป็นทรัพย์จนไม่มีเวลาสิ้นสุด ผู้ที่โฆษณาภูมิความรู้ของตนอยู่เสมอว่าความรู้สูงนั่นแหละเป็นคนโง่โดยแท้ เพราะคนเรายิ่งเรียนมากขึ้นก็ยิ่งแลเห็นแจ่มแจ้งขึ้นทุกทีว่า ความรู้ตนเองนั้นมีน้อยปานใด ส่วนคนที่เข้าใจผิดว่าตนเองมีความรู้มากแล้วก็มิได้ขวนขวายหาความรู้สืบไป ในทางตรงข้ามผู้ที่มิได้อวดรู้แต่ตั้งความเพียรอยู่สม่ำเสมอ จึงมักเดินทันหรือแซงหน้าผู้มีวิชาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ดังนั้นผู้ที่เป็นคนเพียร เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ย่อมจะใช้อุตสาหะวิริยะภาพโดยสม่ำเสมอ เพื่อทำกิจการนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วง การเลือกใช้คน  ผู้บังคับบัญชาจึงเพ่งเล็งหาคนเพียรมากกว่าคนที่มีวิชา แต่เกียจคร้านหาความบากบั่นอดทนมิได้
๓. ความไหวพริบ “ไหวพริบ” แปลว่า “รู้จักสังเกตเห็นโดยไม่ต้องมีใครเตือนว่า เมื่อมีเหตุนั้น ๆ จะต้องปฏิบัติการอย่างนั้น ๆ เพื่อให้บังเกิดผลดีที่สุดแก่กิจการทั่วไปและรีบทำการอันเห็นควรนั้น โดยฉับพลันทันท่วงที” ผู้ที่มีวิชามากแต่บกพร่องในความไหวพริบก็อาจสู้คนที่มีวิชาน้อยแต่มีความไหวพริบมากกว่าหาได้ไม่ เพราะเมื่อมีเหตุต้องทำทันทีทันควันจะไม่มีเวลาค้นตำหรับตำราที่ไหน ต้องรีบปฏิบัติให้ทันการ ผู้ที่ผู้บังคับบัญชาคนจะเอาตัวรอดแต่ลำพังไม่ได้ ต้องนำผู้ใต้บังคับบัญชาของตนรอดพ้นไปด้วย และต้องใช้ความคิดโดยปัจจุบันทันด่วนบ่อย ๆ ฉะนั้นในการเลือก ผู้บังคับบัญชาต้องเพ่งเล็งที่ไหวพริบของบุคคลเป็นสำคัญด้วย
๔. ความรู้เท่าถึงการณ์ คำว่า “ความรู้เท่าถึงการณ์” หมายถึง “ รู้จักปฏิบัติกิจการให้เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง” การที่จะเป็นเช่นนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่รู้จักเลือกว่า จะต้องปฏิบัติการอย่างไรจึงจะเหมาะสมแก่เวลาและ
สถานที่ คือการจะทำอะไรก่อนและอะไรหลังให้เหมาะสมกัน รวมทั้งการเลือกสถานที่ที่เหมาะสมในการทำการ และได้รับผลดีมีประโยชน์ เมื่อกระทำลงไปแล้ว ความรู้เท่าถึงการณ์นั้นสั่งสอนกันไม่ได้ แต่ได้โดยความอุตสาหะ
พากเพียร จำแบบอย่างผู้อื่น ซึ่งเขาได้ปฏิบัติมาแล้ว แต่จะยึดอยู่แต่แบบแผนตายตัวเท่านั้นหาได้ไม่ เพราะถ้าไปประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่อยู่ในแบบแผนก็จะทำอะไรไม่ถูก ฉะนั้นจึงต้องอาศัยไหวพริบในตัวเองประกอบด้วย
จึงจะเป็นผู้รู้เท่าถึงการโดยสมบูรณ์
๕. ความซื่อตรงต่อหน้าที่ ความซื่อตรงต่อหน้าที่นั้นมิใช่แต่ทำภารกิจให้ตรงต่อเวลา และเสร็จไปเท่านั้น หรือการไม่คดโกงเงินหลวงเท่านั้น ความซื่อตรงต่อหน้าที่ คือ การตั้งใจกระทำกิจการซึ่งได้รับมอบมาให้เป็นหน้าที่ของตนนั้นโดยซื่อสัตย์สุจริตใช้ความอุตสาหะวิริยะภาพเต็มสติกำลังของตน ด้วยความมุ่งหมายให้กิจการนั้นๆ บรรลุถึงความสำเร็จโดยอาการอันงดงามที่สุด ที่จะพึงมีหนทางจักไปได้ ผู้ที่ซื่อตรงต่อหน้าที่ จริง ๆ แล้ว เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำอะไรก็ต้องตั้งใจทำอย่างดีที่สุด ถ้าผู้ใดประพฤติดังที่กล่าวมานี้ นับว่าเป็นผู้ควรวางใจให้ทำการในหน้าที่สำคัญได้ เพราะเชื่อว่าหน้าที่อะไรที่มอบให้ทำคงไม่ทิ้ง
๖. ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป คนเราไม่ว่าจะเป็นคนสำคัญปานใด ย่อมต้องอาศัยกำลังผู้อื่นในกิจการบางอย่าง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้กำลังของผู้อื่นโดยความเต็มใจของเขาที่จริงหนทางที่ดีที่สุดจะดำเนินไปเพื่อให้เป็นที่นิยมของคนทั้งหลาย คือ ความประพฤติซื่อตรงทั่วไป รักษาตนให้เป็นคนที่เขาทั้งหลายจะเชื่อถือได้โดยรักษาวาจาสัตย์ ไม่เปลี่ยนแปลงคำพูด ไม่คิดเอาเปรียบใคร เมื่อผู้ใดมีไมตรีต่อก็มีไมตรีตอบไม่ใช่ความรักใคร่ไมตรีซึ่งผู้อื่นมีแก่เรานั้นเพื่อเป็นเครื่องประหารเขาเอาเอง หรือใคร ๆ ทั้งสิ้น ถ้าประพฤติได้เช่นนี้ก็ย่อมเป็นศรีแก่ตน ทำให้นิยมรักใคร่และให้ผู้ใหญ่เมตตากรุณาเป็นอันมาก
๗. ความรู้จักนิสัยคน ข้อนี้เป็นข้อสำคัญสำหรับผู้ที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติภารกิจติดต่อกับผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย ถ้าเป็นผู้น้อย ก็ต้องศึกษาสังเกตให้รู้ว่าผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของตนชอบอะไร และเกลียดอะไร เพื่อที่จะวางความประพฤติและทางการงานของตนให้ต้องตามอัธยาศัยของผู้ใหญ่นั้น ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บังคับบัญชาคนมาก ๆ ก็ต้องรู้จักนิสัยของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนว่าเป็นอย่างไร เพราะคนมีจิตใจแตกต่างกันบางคนชอบขู่ บางคนชอบปลอบ จะขู่อย่างเดียวหรือยออย่างเดียวหาได้ไม่ เพราะฉะนั้นจะใช้บังคับด้วยแบบแผนอย่างเดียวกันทั้งหมดหาเหมาะไม่
๘. ความรู้จักผ่อนผัน คนโดยมากที่มีหน้าที่บังคับบัญชาทั้งทหารและพลเรือนมักเข้าใจว่า “ผ่อนผัน” นี้ผิดเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง เห็นว่าการผ่อนอันเป็นสิ่งที่ทำให้เสียระเบียบทางราชการไป จึงไม่ยอมผ่อนผันเลย อีกจำพวกหนึ่งเห็นว่าการใด ๆ ทั้งปวงควรจะคิดถึงความสะดวกแก่ตัวเองและบุคคลในบังคับบัญชาของตน จึงยอมผ่อนผันไปเสียทุกอย่าง จนเสียทั้งวินัยแบบแผนและหลักการทีเดียวก็มี ซึ่งทั้งสองจำพวกนี้เข้าใจผิดทั้งสองจำพวกทางที่ควรนั้นควรจะเดินสายกลาง พิจารณาตามความเหมาะสมถึงจะถูก
๙. ความมีหลักฐาน ความมีหลักฐานเป็นคุณวิเศษอันหนึ่งซึ่งจะเป็นเครื่องช่วยบุคคลให้ได้รับตำแหน่งหน้าที่อันมีความรับผิดชอบ และเมื่อได้รับแล้วจะเป็นเครื่องให้ได้มั่นคงอยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไปอีกด้วย การมีหลักฐาน คือ หนึ่ง การมีบ้านเป็นสำนักมั่นคง ไม่เที่ยวระเหระหนอยู่โน้นทีนี่ที ต้องอยู่ให้เป็นที่เป็นทาง เมื่อมีความจำเป็นที่จะตามตัวต้องตามพบ สอง การมีครอบครัวอันมั่นคง คือ มีภรรยาเป็นเนื้อเป็นตัวและ เป็นคู่ชีวิตฝากเหย้าฝากเรือนเป็นหูเป็นตาแทนผัวได้ จึงเรียกว่ามีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐาน สาม ตั้งตนไว้ในที่ชอบ คือ ไม่ประพฤติสำมะเลเทเมาประพฤติอยู่ในอบายมุขซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความฉิบหาย ที่กล่าวมานั้นจะแลเห็นได้ว่า ทุกคนมีโอกาสเท่า ๆ กันที่จะทำตัวเป็นผู้มีหลักฐาน ถ้าใครไม่ถือโอกาสนั้นแล้ว จะโทษใคร ไม่ได้เลยนอกจากตัวเอง
๑๐. ความจงรักภักดี ความจงรักภักดี แปลว่า ความสละตนเพื่อประโยชน์แห่งท่าน คือ ถึงแม้ว่าตนจะได้รับความเดือนร้อน ความรำคาญ ตกระกำลำบากหรือจนต้องสิ้นชีวิตเป็นที่รักก็ย่อมได้ทั้งสิ้น เพื่อมุ่งประโยชน์แท้จริงให้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ผู้ที่จะยอมเสียสละเช่นนี้ได้ต้องเข้าใจซึมซาบว่า ตนของตนนั้นเปรียบเสมือนปรมาณูผงก้อนเล็กนิดเดียว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูเขาใหญ่ ซึ่งภูเขาใหญ่เปรียบเสมือนชาติ และถ้าชาติเราแตกสลายไป แล้วตัวเราผู้เป็นผงก้อนเดียวเท่านั้นก็ต้องลอยไปตามลม เมื่อเข้าใจเช่นนี้จึงจะเข้าใจว่าราคาของคนนั้นที่มีอยู่แม้แต่เพียงเล็กน้อยปานใดก็เพราะอาศัยการที่ยังเป็นส่วน ๆ แห่งชาติ ซึ่งยังคงเป็นเอกราชไม่ต้องเป็นข้าใครอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้เข้าใจจริงจะไม่รู้สึกเลยว่าการเสียสละส่วนใด ๆ จะเป็นข้อควรเป็นห่วงแทน นี้เป็นความจงรักภักดีแท้จริง และความจงรักภักดีแท้จริงนี่เอง คือความรักชาติซึ่งคนไทยสมัยใหม่พูดจนติดปาก แต่จะหาผู้เข้าใจซึมซาบจริงได้น้อยนัก
มารยาทของนายทหารสัญญาบัตรที่พึงปฏิบัติ
๑. ต้องระวังความสะอาดเรียบร้อยในที่อยู่ของตนให้มาก ๆ เพราะที่อยู่ของตนนั้นเป็นเครื่องแสดงให้ผู้อื่นเขาเห็นว่าตนมีนิสัยเป็นอย่างไร
๒. เครื่องแต่งกายต้องให้ถูกแบบทหารทุกอย่าง และสะอาดเสมอ
๓. เวลารับประทานอาหารอย่าลุกลนเลอะเทอะมูมมาม จงระวังความสะอาดให้มากและอย่ากล่าวถึงสิ่งที่น่าเกลียดในเวลารับประทาน เพราะจะรำคาญหูผู้ซึ่งรับประทานอยู่ด้วยกัน
๔. ไม่ควรบ้วน , ขาก , ถ่มและอย่าจิ้ม ควัก ล้วง แกะเการ่างกายในที่ประชุม
๕. ไม่ควรหยิบของผ่านหน้าผู้อื่น ควรขอให้เขาหยิบส่งให้จะดีกว่าแล้วแสดงความขอบใจเขา
๖. คนไทยย่อมถือกันว่าศีรษะเป็นของสูง เพราะฉะนั้นต้องระวังอย่าใช้กิริยาข้ามกราย และเวลาพูดอย่าใช้มือชี้ข้ามหน้าตาและศีรษะของผู้อื่น
๗. อย่าล่วงเกิน ถูกต้องผู้อื่นซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน
๘. ไม่ควรหันหลังให้ผู้อื่น ในขณะที่พูดจากันหรือเหยียดเท้าไปให้ ถ้ากับผู้ใหญ่ยิ่งเป็นการสำคัญมากขึ้น
๙. ไม่ควรใช้กิริยากระซิบบุ้ยใบ้ ให้อาณัติสัญญาณใด ๆ ในที่ประชุม เพราะอาจทำให้ผู้อื่นสงสัยในกิริยาเช่นนั้น
๑๐. กิริยาท่าทาง ต้องให้ผึ่งผายองอาจสมกับที่เป็นทหารอยู่เสมอ
๑๑. เวลาไปในงานศพ อย่ามีกิริยารื่นเริงชื่นบานและทำเสียงดังเป็นอันขาด
๑๒. ทหารทุกคน ไม่ควรลักลอบเล่นการพนันที่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติอากรการพนัน
๑๓. ทหารไปในที่ใด ๆ ก็ดี ต้องระวังในเรื่องแสดงความเคารพอยู่เสมอและต้องแสดงความเคารพด้วยกิริยานอบน้อม
๑๔. เสียงที่พูดนั้นอย่าให้เบานัก หรือโฮกฮาก และพูดอะไรต้องให้เป็นวรรคเป็นตอนและถูกต้องตามยศ
๑๕. ทหารทำกิจพลาดพลั้งในกิริยาวาจาต้องออกวาจาขอโทษเสมอ
๑๖. คำพูดต้องระวังให้แน่นอนไม่กลับกลอก
๑๗. การมาทันเวลาราชการนั้น นับว่าเป็นข้อสำคัญสำหรับราชการทหารมาก ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือผู้น้อย ต้องมาก่อนผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่เสมอแต่ไม่ควรมาก่อนเวลาซึ่งกำหนดเกินกว่า ๑๕ นาที ผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชาไม่ควรให้ผู้น้อยหรือผู้ใต้บังคับบัญชามาคอยตนอยู่นานต้องระวังทำตัวอย่างอันดีอยู่เสมอ ถ้าตนมาช้าสัก ๒ - ๓ ครั้ง ต่อไปผู้อื่นก็จะมาช้าอย่างที่ตนทำแบบนั้น
๑๘. เวลาเป็นเงินเป็นทอง ทหารทุกคนควรจะนึกตริตรอง และใช้ให้ถูกอย่าเอาเวลาอันแพงนี้ไปใช้สำหรับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมือง
๑๙. ผู้ใดไม่ทำการงานในหน้าที่ของตน เอาเวลาทำการงานในหน้าที่ของตนไปคิดการในหน้าที่ของคนอื่น ๆ และทั้งอวดรู้แต่ปากมากด้วยนั้น ผู้นั้นควรจะได้นามว่า “ กระฉอกถ้วยแก้ว ”
๒๐. ในการงานทั้งปวง ทหารต้องมีมานะไม่ย่อท้อต่อความลำบาก โดยไม่ทำตัวเป็นน้ำตาลหรือขี้ผึ้ง คือกลัวฝนและกลัวแดด ถึงแม้มีความลำบากสักปานใดก็ต้องสะกดใจไว้และคอยดูต่อไปในข้างหน้า
๒๑. เงินทองไม่ต้องยืมกัน เพราะเขาต้องใช้เหมือนกัน ถ้าเขาไม่ให้ยืมจะขัดใจกันเมื่อเรามีเท่าใดก็ใช้เท่านั้นต้องใช้เงินให้พอเหมาะกับการได้ของตน อย่าให้ต้องเป็นหนี้การใช้เงินจนเกินกำลังตนจนต้องเป็นหนี้สินเขานั้น ผู้นั้นควรจะได้นามว่า “ เหลิงหรือเลยธง ”
๒๒. ผู้ที่อยู่นิ่ง ๆ ไม่ทำอะไรเพราะกลัวความผิดนั้นนับว่าเลว แม้จะทำอะไรไปถ้าปรากฏว่าบกพร่องก็จัดการแก้ไขภายหลัง ยังว่าเป็นทางที่ควรยกย่องอยู่เสมอ
การปฏิบัติตนในฐานะผู้บังคับบัญชา
๑. รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง
๒. ส่งเสริมให้กำลังใจ
๓. รู้จักศิลปของการวิพากษ์วิจารณ์
๔. รักษาผลประโยชน์ของผู้ใต้บังคับบัญชา
๕. รู้จักใช้จิตวิทยาในการนำคน
การปฏิบัติตนในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา
                ๑. ทำงานให้เต็มขีดความสามารถ หลีกเลี่ยงการประจบสอพลอ
๒. ใกล้ชิดผู้บังคับบัญชาให้เหมาะสมกับเวลา, โอกาส
๓. ให้ความเคารพยกย่องตามฐานะ
การปฏิบัติตนในฐานะเพื่อนร่วมงาน
๑. มีความเข้าใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
๒. ยกย่องชมเชยเขาในโอกาสอันควร
๓. ให้ความคิดความร่วมมือด้วยความเต็มใจ
๔. หลีกเลี่ยงการทำตัวเหนือกว่า หรือโอ้อวดตน
๕. พบปะสังสรรค์ตามสมควร
ที่มา : คู่มือนายทหารสัญญาบัตร พ.ศ.๒๕๔๙

No comments:

Post a Comment